มหาเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Paya)

6755 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มหาเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Paya)

มหาเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Paya)


 
               มหาเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Paya) ค่าเข้าชม 5 U$ เวลา 5.00 - 22.00 น. เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่นักท่องเที่ยวทุกคนไม่ว่าชาวเอเชียที่นับถือศาสนาพุทธหรือฝรั่งต่างศาสนา ที่เดินทางมาพม่า แล้วต้องมาเยือน ทั้งยังเป็น 1 ใน 5 ของมหาบูชาสถานที่ชาวพม่าทุกคนใฝ่ฝันว่าจะได้มากราบบูชา ซักครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งจะพบเห็นความศรัทธาอย่างแรงกล้าของชาวบ้านได้ทั่วไปตามมหาบูชาสถานทั้ง 5 โดยชาวพม่าบางคนเก็บหอมรอมริบเงินทองเป็นแรมปี กว่าจะได้เดินทางมาจากทั่วสารทิศในพม่า เพียงเพื่อที่จะมากราบบูชา สวดมนต์ นั่งสมาธิ ต่อหน้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายและสะดวกกับภาวะที่เป็นอยู่ของคนพม่าเลย

            ตามประวัติกว่า 2,500 ปีที่แล้ว ในตำนานเล่าว่า ได้มีพ่อค้าวานิช 2 พี่น้อง คือ ตปุสสะ (Tapussa) และบาลิกะ (Bhallika) เป็นตัวแทนของชาวมอญที่มีความศรัทธาในพุทธศานา ได้เดินทางไปเข้าเฝ้าองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า และถวายตัวเป็นพุทธมามกะนับถือพระรัตนตรัยไปตลอดชีวิต ก่อนลากลับพระพุทธองค์ทรงประทานพระเกศา 8 เส้น เพื่อนำกลับไปบูชาในดินแดนบ้านเกิด สร้างความปลาบปลื้มปิติเป็นล้นพ้นแก่ชาวมอญ พอเดินทางถึงพระเจ้าโอคาลาปะ (Okkalapa) ทรงสร้างพระเจดีย์ที่มีความสูง 20 เมตร (66 ฟุต) บนเนินเขาตะเกิง สำหรับบรรจุพระเกศา เพื่อให้ประชาชนได้มาเคารพกราบไหว้ด้วยกาลเวลาที่ยาวนานองค์พระเจดีย์ได้ถูกบูรณะใหม่หลายยุคสมัยจากกษัตริย์ของชาวมอญ และพม่าทุกพระองค์ ถือเป็นพระราชกิจสำคัญในการก่อสร้างทำนุบำรุงพระเจดีย์แห่งนี้จนมีความสูงถึง 99 เมตร (326 ฟุต) ในปีพ.ศ. 1996 สมัยพระนาง ชินสอบู (Shinsawbu) พระราชินีอาณาจักรมอญ ได้เริ่มธรรมเนียมถวายทองคำเท่านั้น หนักพระองค์คือ 40 กิโลกรัม เพื่อการบูรณะเจดีย์ จนกลายเป็นประเพณี ที่กษัตริย์ทุกพระองค์สืบทอดกันมา ปัจจุบันมีน้ำหนักรวมถึง 1,100 กิโลเมตรกริม ส่วนบนสุดที่เป็นยอดฉัตรได้รับการบูรณะ จากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปีพ.ศ. 2311 รัชสมัย พระเจาฉินบูชิน ทรงจัดสร้างยอดฉัตรใหม่ตามแบบพม่า แทนแบบมอญและทรงโปรดให้ประดับด้วยระฆังทอง เงินและทองแดง 600 ใบ ส่วนรอบฉัตรประดับด้วยอัญมณีมีค่ามากมาย



         ต่อมาในสมัยพระเจามินดง พ.ศ. 2414 ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ในการบูรณะสร้างฉัตรใหม่โดยรอบประดับด้วยเพชรรวมถึง 76.6 กะรัตกับอัญมณีที่มีค่าและระฆังใบเล็กถึง 5,000 ใบ และครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2473 ได้มีการบูรณะอีกครั้ง โดยประชาชนชาวพม่าที่พร้อมใจร่วมกันถวายทรัพย์สินส่วนตัว เพื่อบูรณะครั้งนี้รวมกับของเดิมมีจำนวน เพชร 79,569 เม็ดและระฆังทองคำประดับถึง 3,154 ใบ

                   แท็กซี่เข้ามาจอดส่งผมบริเวณทางขึ้นฝั่งทิศใต้ เป็นอาคารลิฟท์ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมขึ้นจากฝั่งนี้มากที่สุด เนื่องจากมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย เช่น ที่ฝากรองเท้า ห้องน้ำสะอาดและไม่ต้องเดิน ขึ้นลิฟท์ได้เลย เพียงแรกเห็นพระมหาเจดีย์ต้องทึ่งกับความยิ่งใหญ่และแสงทองอร่ามขององค์เจดีย์ มีเจดีย์องค์เล็กมากมายล้อมรอบองค์เจดีย์ใหญ่ รอบๆ จะเป็นลานกว้างสามารถจุพุทธศาสนิกชนได้หลายพันคน ปูพื้นด้วยหินอ่อน บริเวณทางขึ้นทั้ง 4 ทิศจะมีระเบียงคตเป็นที่ประดิษฐานของพระประธานทั้ง 4 ด้าน เห็นชาวพม่าและนักท่องเที่ยวเดินกันขวักไขว่ บางคนไหว้พระ สวดมนต์บ้าง นั่งสมาธิบ้าง สรงน้ำพระตามวันเกิดบ้าง คำว่า “ชเว” นั้นภาษาพม่าแปลว่า ทอง ส่วน      ดากองเป็นชื่อเมืองเก่าของย่างกุ้ง ผมจึงเลือกที่จะเดินชมความงดงามขององค์พระเจดีย์อย่างใกล้ๆ ก่อน เป็นอันดับแรก เมื่อพิจารณาดูแล้ว จะเห็นรอยต่อของแผ่นทองที่หุ้มองค์เจดีย์ไว้ โดยในอดีตช่างจะนำทองคำมาตีเป็นแผ่นแล้ว นำมาต่อกันปิดรอบองค์พระเจดีย์ไว้ โดยมีหมุดยึดสามารถถอดออกได้เพื่อเช็ดล้างกรณีหมองคล้ำ คนไทยบางคนเชื่อว่า คราวที่เสียกรุงครั้งที่ 2 พม่าได้เผา และลอกเอาทองจากวัดและเจดีย์ต่างๆ ในกรุงศรีอยุธยามาบูรณะที่นี่ คงไม่มีประโยชน์กับความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศที่จะค้นหาความจริงเมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว ผมเริ่มเดินรอบเจดีย์โดยเวียนขวา มีหลายอย่างที่น่าสนใจอีก




 
ดังนี้
1. ต้นศรีมหาโพธิ์ ซึ่งนำหน่อมาจาดต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ จากเมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย
2. จุดบูชาพระประจำวันอังคาร รูปสิงโต
3. จุดบูชาพระประจำวันจันทร์ รูปเสือ
4. จุดบูชาพระประจำวันอาทิตย์ รูปครุฑ
5. ระฆังมหาธิกาดากันดา (Maha Titthadaganda) ที่สร้างโดยพระเจ้าทารวดี มิน ในปี 2384 มีน้ำหนัก 42 ตัน มีเสียงที่ไพเราะถึง 3 โทนเสียง
6. เป็นอาคารที่สร้างครอบฉัตรที่เคยประดิษฐานบนยอดเจดีย์ ด้านล่างมีพระพุทธรูปแกะสลักไม้พระปฐมอรหันต์ทั้ง 4 ที่สวยงาม
7. เจดีย์นองดอร์จี (Naungdawgvi Stupa) ถูกสร้างจำลองเจดีย์ชเวดากอง และเป็นที่ประดิษฐานพระเกศา เพื่อรอพระเจดีย์องค์จรองสร้างเสร็จ
8.  อาคารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่มีดวงตาไม่เท่ากัน
9. เจดีย์พุทธคยาจำลองแบบมาจากอินเดีย
10. จุดบูชาพระประจำวันศุกร์ รูปหนูตะเภา
11. จุดบูชาพระประจำวันพุธ (ตอนกลางคืน) รูปช้างไม่มีงา
12. ลานอธิษฐาน เป็นจุดที่มีผู้คนนิยมมาอธิษฐานขอพรให้สมปรารถนามากที่สุด บริเวณนี้ถูกจัดเป็นบล็อกแยกความแตกต่างจากสีพื้นบางตำราเล่าว่า พระเจ้าบุเรงนองก่อนทำศึกออกรบก็มาอธิษฐานขอพรบริเวณนี้
13. เป็นอาคารมณฑปขนาดใหญ่ มีความสูงถึง 9 เมตร จุดเด่นข้างผนังมีภาพเขียนพระพุทธรูปใหญ่
14. เจดีย์วันทั้ง 8 ลักษณะ เป็นเจดีย์เล็กๆ ทรง 8 เหลี่ยม ซึ่งหมายถึงดวงดาวหรือวันทั้ง 8 (ตามความเชื่อพม่าวันพุธเป็นกลางวัน และกลางคืน) มีพระพุทธรูปประจำวันเกิดและรูปสัญลักษณ์สัตว์ทั้ง 8 ตามวันเกิด
15. ระฆังมหากันดา (Maha Ganda) สร้างขึ้นปี พ.ศ. 2318-2322 มี ความสูง 2.2 เมตร หนัก 23 ตัน ในช่วงอังกฤษเข้ามายึดพม่าพยายามจะนำระฆังนี้ไปไว้ที่ เมืองโกลกาด้า ประเทศอินเดีย แต่ระหว่างขนย้ายระฆังเกิดตกลงไปในแม่น้ำย่างกุ้ง ทหารอังกฤษไม่สามารถกู้ระฆังขึ้นมาได้ ชาวพม่าได้ ตกลงกับทหารอังกฤษว่าถ้างมขึ้นมาได้ ต้องคืนระฆังให้ ชาวพม่าหลายคนพร้อมใจกันใช้เชือกผูกกับแพไม้ไผ่ขนาดใหญ่จนกู้ระฆังได้สำเร็จ นำกลับมาไว้ที่เดิม
16. ซุ้มประตูรูปปั้นพระเจ้าโอคาลาปะ (Okkalapa) กษัตริย์ชาวมอญผู้เริ่มก่อสร้างเจดีย์แห่งนี้
17. จุดบูชาพระประจำวันพฤหัส รูปหนู (ตัวเล็ก)
18. รูปปั้นบูชาแม่ละมุ (Mai Lamu) ซึ่งเป็นนัตองค์หนึ่งที่คุ้มครองเจดีย์
19. จุดบูชาพระประจำวันเสาร์ รูปพญานาค
20. หอสวดมนต์ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ มีความยาว 8 เมตร สร้างตามแบบวัฒนธรรมชาวยะไข่ ซึ่งเป็นผู้บริจาคค่าก่อสร้าง ผนังด้านในมีภาพเรื่องราวเกี่ยวกับพระธาตุอินทร์แขวน
21. ภายในตู้กระจกจะมีรูปปั้นทายามิน (Tha Kya Min) ซึ่งเป็นราชาของเหล่านัต อยู่ทางซ้ายถัดมาคือ โบโบยี (Boh Boh Gyi) หรือคนไทยเรียกเทพทันใจ ซึ่งจะคอยปกปักษ์คุ้มครองเจดีย์ชเวดากอง พบเห็นเหล่านัตนี้ได้ทุกเจดีย์ในพม่า
22. ศาลสุริยัน-จันทรา เป็นศาลเล็กๆ ลักษณะโดดเด่นที่จั่วหลังคามีรูปนกยูงและกระต่าย ชาวพม่ามากราบไหว้ขอพรเกี่ยวกับเรื่องการค้าขายให้เจริญรุ่งเรือง       
23. เป็นลานกว้างมีเสาที่จารึกเพื่อสร้างเป็นอนุสรณ์ในเหตุการณ์นักศึกษาประท้วงอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2463 ทั้ง 4 ด้าน มีการสลักชื่อนักศึกษา เป็นภาษารัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส และพม่า ซึ่งภายหลังบริเวณนี้ ยังได้ใช้เป็นที่ชุมนุมการประท้วงมาแล้วหลายครั้ง
24. จุดบูชาพระประจำวันพุธ (ตอนกลางวัน) รูปช้างมีงา
25. หน้าซุ้มพระพุทธรูปจะมีรูปปั้นเทวดาอุ้มเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ไม่มีลูก หรือมียาก จะมา ขอพรที่นี่ โดยใช้ใบไม้ชนิดหนึ่งมาบูชา
26. ระเบียงคตเป็นที่ประดิษฐานขององค์พระประธานทั้ง 4 ทิศ
หลังจากเดินครบรอบแล้ว ได้พบเจ้าหน้าที่ใจดีได้แนะนำวิธีการบูชา เจดีย์ชเวดากอง ดังนี้
1. เข้านมัสการองค์พระประทานที่ระเบียงคต (26) ทิศใดก็ได้ จุดธูปเทียน ดอกไม้บูชาพระ สวนมนต์ภาวนา
2. นมัสการพระพุทธรูปตามวัดเกิด (2) (3) (4) (10) (11) (17) (19) (24) จุดธูปเทียน ดอกไม้บูชา อธิษฐานขอพร สรงน้ำพระประจำวันเกิด เกินจำนวนอายุหนึ่งถ้วย เสร็จแล้วสรงน้ำเทวดาที่อยู่ด้านหลังและสัตว์ประจำวันเกิด ตามจำนวนเกินอายุ 1 ถ้วยเช่นกัน
3. เดินจงกลมเวียนขวา รำลึกคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รอบพระเจดีย์ 3 รอบ (ถ้าเดินไม่ไหวอย่างน้อย 1 รอบ)
4. บริจาคเงินทำบุญตามจิตศรัทธาแก่วัด ที่ซุ้มใดก็ได้
5. ตีระฆังใบใดใบหนึ่ง เพื่อให้เทวดาร่วมอนุโมทนาบุญ
พอไหว้พระเสร็จรู้สึกปลื้มปิติในอย่างบอกไม่ถูก ผมใช้เวลาที่นี่อยู่นานพอสมควร จึงเดินทางกลับ สำหรับผู้นิยมในการถ่ายรูปเจดีย์เชวดากองใต้แสงจันทร์ หรือยังไม่จุใจกับการเดินชมในเวลากลางวันที่มีอากาศร้อน สามารถเข้าชมในช่วงค่ำได้ โดยใช้บัตรผ่านใบเดิมในวันเดียวกัน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้