แขวงจำปาสัก

17682 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แขวงจำปาสัก

ข้อมูลท่องเที่ยวแขวงจำปาสัก


แขวงจำปาสัก หรือจำปาศักดิ์ (Champasak Province)

ประวัติของแขวงจำปาสัก
สืบสาวได้ถึงอาณาจักรฟูนันและเจนละ ปรากฏวื่อในพงศาวดารเขมรว่า สะมะพูปุระ เมื่ออาณาจักรฟูนันเสื่อมอำนาจ คนลาวย้ายถิ่นฐานเข้ามาสร้างบ้านเรือนกลายเป็นเมืองใหม่นามว่า จำปานะคะบุลีหรือจำปานคร ถึงรัชสมัยเจ้าฟ้างุ่มได้ทรงรวบรวมเมืองต่าง ๆ ของลาวเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกันให้ชื่อว่าล้านช้าง มีเมืองหลวงอยู่ที่หลวงพระบาง ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่เวียงจันทน์ อาณาจักรล้านช้างเจริญมาได้ 200 ปีเศษก็เริ่มอ่อนแอ แตกออกเป็น 3 ฝ่าย คือ อาณาจักรหลวงพระบาง อาณาจักรเวียงจันทน์ และอาณาจักรจำปาสักแผ่นดินไทยช่วงนั้นอยู่ในสมัยกรุงธนบุรี เพราะระแวงว่าลาวจะร่วมมือกับพม่าตีขนาบไทย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ 1) ยกทัพไปตี ลาวทั้งสามอาณาจักรตกเป็นของไทยนาน 114 ปี จนถึง พ.ศ. 2436 ไทยต้องยกลาวให้แก่ฝรั่งเศส แต่ครั้นปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสอ่อนแอ ญี่ปุ่นก็เข้ามาปกครองแทน สิ้นสงครามโลกญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้ ทำให้ฝรั่งเศสได้กลับมาครองลาวอีกครั้ง จนถึงสงครามเดียนเบียนฟู พ.ศ. 2497 ฝรั่งเศสแพ้เวียดนามจึงหมดอำนาจในลาวไปอย่างเด็ดขาด เมื่อลาวได้ร่วมกันต่อสู้อย่างแข็งขันจนสหรัฐอเมริกาล่าถอยไป ลาวเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ยกเลิกสถาบันเจ้าชีวิต (กษัตริย์) เจ้าชีวิตองค์สุดท้ายแก่งอาณาจักรจำปาสักคือเจ้าบุญอุ้ม จำปาสักเป็นแขวงที่มีแม่น้ำโขงไหลผ่านกลาง พลเมืองประกอบด้วยชาวลาวลุ่ม ชาวภูไท และชาวเขาเผ่าต่างๆ เช่น กะเซ็ง กะตัง กะเต กะตู ละไว ละเวน เง้ สวย ตะฮัง ตะโอย เป็นต้น ชาวเขาเหล่านี้มักอาศัยอยู่ตามที่ราบสูง โดยเฉพาะบริเวณที่ราบสูงบอละเวน

ที่ราบสูงบอละเวน
หรือที่ชาวลาวเรียกว่า พูเพียงบอละเวนเป็นที่ราบสูงทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของแขวงจำปาสัก สาละวัน เชกอง และอัตตะปือ เป็นถิ่นที่มีชาวละเวนอยู่มากที่สุดจนเป็นที่มาของชื่อสมัยอาณานิคมฝรั่งเศส นำกาแฟ ยางพารา และกล้วยเข้ามาปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ พอฝรั่งเศสหมดอำนาจเกิดสงครามเปลี่ยนแปลงการปกครองเรือกสวนถูกทิ้งร้างทรุดโทรม ต่อมาได้รับการฟื้นฟูจนกลายเป็นแหล่งกสิกรรมที่อุดมสมบูรณ์ ผลิตผลที่ขึ้นชื่อคือกาแฟพันธุ์ดี เช่น อาราบิก้า โรบัสต้า เป็นต้น

ปากเซ (Pakse)
เมืองหลวงของแขวง เป็นเมืองที่ฝรั่งเศสสร้างขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2448 เพื่อคานอำนาจกับเมืองจำปาสัก (บ้านวัดทุ่ง) ตั้งอยู่ตรงบริเวณที่แม่น้ำโขงกับแม่น้ำโดนไหลมาบรรจบกัน ห่างจากชายแดนไทยที่ช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี 42 กิโลเมตร แผนผังเมืองปากเซมีถนนตัดกันเป็นตารางสี่เหลี่ยม เดินเที่ยวชมสถานที่สำคัญในตัวเมืองได้ภายในวันเดียว

 

สถานที่ท่องเที่ยว 
ตลาดเก่า :  ตั้งอยู่กลางเมือง เป็นแหล่งจำหน่ายพืชผัก ผลไม้ อาหารต่าง ๆ และผ้าทอพื้นเมือง

วัดหลวง  :  สร้างเมื่อพ.ศ. 2478 เป็นที่ตั้งสถูปบรรจุพระอัฐิของเจ้านายในราชวงศ์จำปาสักหลายองค์ เรียงรายรอบวัด และเจดีย์เก็บกระดูกของท่านกระต่าย โดนสะโสลิด อดีตนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลอนุรักษ์นิยม ผู้เป็นกำลังสำคัญในการต่อต้านคอมมิวนิสต์

วัดถ้ำไฟ  :  อยู่ใกล้กับโรงแรมจำปาสักพาเลซ วัดนี้เรียกอีกชื่อว่า วัดพระบาทเพราะรอยพระพุทธบาทภายในวัด

วัดพูงอย :  เป็นวัดที่เข้าถึงได้เฉพาะทางน้ำ ตั้งอยู่บนเขาทางใต้ปากเซไป 12 กิโลเมตร ก่อตั้งโดยอาจารย์บุญมา ศิษย์พระอาจารย์มั่น ปัจจุบันอาจารย์บุญมาละสังขารแล้ว แต่ทางวัดได้บรรจุอัฐิของท่านไว้ในเจดีย์และจัดงานนมัสการเป็นประจำทุกปี ระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน

ตาดฟาน :  หรือน้ำตกตาดฟาน (ตาด แปลว่า น้ำตก) ที่เป็นน้ำตกที่สูงที่สุดของลาว (120 เมตร) มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า น้ำตกดงหัวสาว ทางเข้าน้ำตกอยู่ที่หลักกิโลเมตร 28 บน ทางหลวงหมายเลข 23 เกิดจากการไหลรวมกันของน้ำจากภูเขา 2 แห่ง ทั่งบริเวณนี้มีป่าไม้สมบูรณ์ให้ได้ชื่นชม

ตาดเลาะ : น้ำตกสูงเพียง 10 เมตร แต่กว้างมาก ฐานน้ำตกเป็นแอ่งกว้างใหญ่ว่านน้ำเล่นได้ ล้อมรอบด้วยป่าไม้เขียวชอุ่ม บริเวณน้ำตกมีที่พักหลายแห่ง อาทิ ตาดเลาะรีสอร์ทโทรสาร 31-212949 มีห้องอาหารและบริการขี่ช้าง ล่องไพร เฮือนมิตรภาพลาว-ไทย หรือบ้านเขียว และเฮือนพักสายประเสิด

ตาดผาส้วม : น้ำตกตาดผาส้วม คำว่า “ส่วม” ของลาวหมายถึง ห้องหอของเจ้าบ่าว – เจ้าสาว มีน้ำไหลตลอดทั้งปี และมีธรรมชาติป่าไม้ที่สมบูรณ์ให้ชุ่มชื่น ชมความงามของน้ำตก  ท่ามกลางแท่งหินผาขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเป็นแท่ง ๆ ดูแปลกตา ราวกับถูกนำมาเรียงตกแต่งไว้เป็นห้องนอนสวยงามอลังการ ซึ่งเรียกว่า ถ้ำบิดามาเจียง (ชาย) และ น้ำตกขนาดเล็กที่เรียกว่า ตาดมะแงว (หญิง)

 

จำปาสัก (Champasak)
อยู่ห่างจากปากเซ 30 กิโลเมตร อดีตคือศูนย์กลางการปกครองของแขวง และเป็นที่ประทับของราชวงศ์สายจำปาสัก เมื่อฝรั่งเศสตั้งปากเซเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ จำปาสักกลายเป็นเมืองเล็กที่เงียบสงบ ถนนหนทางในเมืองส่วนใหญ่ เป็นลูงรัง ร่มรื่นด้วยทิวไม้ใหญ่ สถานที่ท่องเที่ยวในตัวเมืองมีเพียง วัดทอง ซึ่งเป็นวัดประจำราชวงศ์และเป็นที่ตั้งเจดีย์บรรจุพระอัฐิ ของพระเจ้ายุทธิธรรม เจ้าราชดนัย เจ้าบุญอุ้ม และเจ้าชายเจ้าหญิงสายราชวงศ์จำปาสักหลายพระองค์ ห่างตัวเมืองไปประมาณ 8 กิโลเมตร มีวัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงชื่อ วัดพุทธวนาราม หรือวัดเมืองกาง เป็นวัดที่มีศิลปกรรมลาวไทย พม่า และฝรั่งเศส ที่ผสมกันอย่างกลมกลืน

การเดินทาง
รถสองแถวจากปากเซไป จำปาสัก มีวันละ 3 เที่ยว ออกเวลา 09.00 – 11.00 และ 13.00 น. เรือข้ามฟาก จากบ้านเมืองฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง – บ้านผาผิ่น ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง (เหนือจำปาสัก 3 กิโลเมตร) บริการตลอดทั้งวัน

วัดพูจำปาสัก : หรือปราสาทหินวัดพู เป็นพิพิธภัณฑ์ ที่สำคัญที่สุดในจำปาสัก ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ตั้งอยู่บนเนินเขาพูป่าสัก หรือ พูควย ห่างจากตัวเมืองไป 9 กิโลเมตร เป็นเทวสถานของขอมคล้ายกับเขาพระวิหาร สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 12 สมัยพระเจ้ามเหนทรวรมัน เพื่อใช้เป็นสถานที่บูชาเทพเจ้าและประกอบพิธีทางศาสนาตามลัทธิพราหมณ์ – ฮินดู ต่อมาลาวได้รับพุทธศาสนาเข้ามาในประเทศเทวสถานแห่งนี้จึงเปลี่ยนเป็นวัดพุทธศาสนานิกายเถรวาท

อำเมือง  : ซากวัดขอมโบราณสร้างในสมัยพระเจ้ายโสวรมันที่ 1 ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 14 อยู่ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำวัดพู

บ้านผาโพ : อยู่ห่างจากจำปาสักไปทางตะวันออก 27 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านชาวส่วยที่ยังใช้ช้างช่วยงานเกษตร

เกียดยง :  ไม่ไกลจากบ้านผาโพ มีบริการขี่ช้างเที่ยวพูอาสา แวะชมลานหินโบราณ

สี่พันดอน (Si Phan Don)
แม่น้ำโขงช่วงใกล้เขตแดนกัมพูชามีขนาดกว้าง 10 -12 กิโลเมตร กลางลำน้ำเต็มไปด้วยเกาะและแก่งหินขนาดต่าง ๆ ถึง 4,000 เกาะ เป็นที่มาของชื่อสี่พันดอน คำว่าดอนในภาษาลาวหมายถึงเนินดินที่ผุดขึ้นในแม่น้ำแบะมีน้ำล้อมรอบ ในจำนวนสี่พันดอนนี้ ดอนที่ใหญ่ที่สุดคือดอนโขง

ดอนโขง หรือเมืองโขง
กว้าง 6 กิโลเมตร ยาว 12 กิโลเมตร เป็นบ้านเกิดของท่านคำไต สีพันดอน อดีตประธานประเทศลาว นับว่าเมืองที่มีขนาดใหญ่และมีความเจริญด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐาน ถนน ไฟฟ้า และประปาที่สมบูรณ์มีแม่น้ำโขงล้อมรอบ มีโรงแรมและเกสต์เฮาส์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะวิลล่าแบบฝรั่งเศสหลายแห่ง สถานที่น่าสนใจได้แก่ วัดพวงแก้วมีพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ วัดจอมทอง วัดเก่าแก่ที่สุดของดอนโขง สร้างในสมัยเจ้าอนุวงศ์

ดอนคอน
เป็นดอนขนาดรองลงมา กว้าง 4.5 กิโลเมตร ยาว 5 กิโลเมตร ประกอบด้วย 5 หมู่บ้าน มีที่พักทั้งวิลล่าเก่าสมัยอาณานิคม และเรือนฝาไม้ ไผ่ขัดแตะ หลังคามุงหญ้าฟางแบบหลังเดี่ยว และเรือนแถว ห่างจากหมูบ้านไป 2 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของน้ำตกหลี่ผี

 

น้ำตกหลี่ผี หรือตาดสมพะมิต 
เป้นน้ำตกกลางลำน้ำโขง เกิดจากพื้นแม่น้ำโขงยุบตัวลงเป็นโตรกผาสูง 15-20 เมตร ทำให้น้ำโขงไหลตกลงมาเป็นกระแสน้ำเชี่ยวกราก ชื่อหลี่ผี มาจากคำว่า หลี่ คือเครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่งคล้ายลอบ และผีก้คือศพคนตายที่ไหลตามน้ำ และถูกพัดพามาติดหลี่จับปลาของชาวบ้านที่มีอยู่มากมายบริเวณนี้ 

ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างที่หาชมได้ยาก คือโลมาน้ำจืด หรือโลมาอิรวะดี บริเวณใต้น้ำตกหลี่ผี โดยที่โลมาอิระวดีในประเทศลาวพบเพียง 2 แห่ง คือ แม่น้ำเซกอง แขวงอัตตะปือ และแม่น้ำโขง

หมายเหตุ : โลมาอิระวดี หรือโลมาหัวบาตร คนลาวเรียกว่า ปลาข่า เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่หายาก อาศัยอยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มลักษณะปลาข่า ลำตัวสีดำ หัวกลมทุยไม่มีจงอย ลำคอใหญ่บืดหยุ่นได้ ผิวหนังหนาและลื่นด้วยไขมัน มักอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง ชาวท้องถิ่นแถบชายแดนลาว – กัมพูชา เชื่อว่าปลาข่าคือมนุษย์กลับชาติมาเกิด มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับปลาข่าช่วยชีวิตชาวบ้านและช่วยชาวประมงจับปลา จึงไม่มีการจับปลาชนิดน้ำไม่ว่าเป็นอาหารหรือกีฬา ช่วงสงครามล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชาประมาณพ.ศ. 2510 เศษ ๆ ทหารเขมรล่าปลาข่าจำนวนมากเพื่อเอาไขมันเลวร้ายยิ่งขึ้นเมื่อมีการใช้ระเบิดจับปลาในทะเลสาบของเขมร แรงระเบิดรุนแรงมาถึงแม่น้ำโขง จำนวนปลาข่าที่เหลือน้อยยิ่งลดลงไปอีกจนแทบสูญพันธุ์ ปัจจุบันทางการไทยเสนอให้โลมาอิระวดีเป็นสัตว์สงวนแล้ว

ดอนเด็ด 
เป็นเกาะเล็ก ๆ ทางตอนเหนือของดอนคอน สมัยฝรั่งเศสยึดครองอินโดจีนจำเป็นต้องขนส่งสินค้าและสิ่งของต่าง ๆ ขึ้นไปทางตอนกลางประเทศแต่ติดขัดเกาะแก่งขนาดใหญ่ทำให้เรือสินค้าไม่สามารถแล่นผ่านไปได้ จึงได้สร้างท่าเรือและทางรถไฟบนดอนคอน พอเรือแล่นมาถึงบริเวณสี่พันดอนก็จอดเรือไว้ที่ดอนคอน ขนถ่ายสินค้าจากเรือไปทางรถไฟจากหัวดอนไปท้ายดอนแล้วขนสินค้าลงเรือใหม่ ทางรถไฟสายนี้ปัจจุบันยังคงมีซากหลงเหลืออยู่ให้เห็น รวมทั้งหัวรถจักรไอน้ำที่ใช้ในสมัยนั้น

แหล่งเยือนชานเมือง
บ้านสะพาย และดอนโค  : บ้านสะพายอยู่ห่างจากปากเซ 15 กิโลเมตร เป็นแหล่งทอผ้าฝ้ายและผ้าไหมขึ้นชื่อ เช่นเดียวกับคอนโด หมู่บ้านบนเกาะกลางแม่น้ำโขง ที่สามารถเลือกซื้อหาได้จากกี่ใต้ถุนบ้าน สินค้าสำคัญของแขวงจำปาสัก นอกจากไม้ กาแฟ ชา หวาย และกระวาน ยังมีผ้าฝ้ายและผ้าไหมมัดหมี่ย้อมสีธรรมชาติ 

 


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้