15825 จำนวนผู้เข้าชม |
แขวงเซียงขวาง/เชียงขวาง (Xieng Khuang)
รหัสโทรศัพท์ 61 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหลวงพระบางติดกับประเทศเวียดนาม เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของลาวพวน มีเรื่องเล่าตามประวัติศาสตร์ว่า เมื่อขุนบรมสร้างเมืองแถง (เดียนเบียบฟู) เป็นราชธานีแล้ว ได้ส่งพระโอรสไปครองเมืองต่างๆ โดยรอบ โดยโอรสองค์ที่ 7 คือท้าวเจืองได้ครองเมืองพวน (หรือเชียงขวางในปัจจุบัน)
หลังสมัยขุนเจือง เชียงขวางตกเป็นเมืองขึ้นของญวนได้ชื่อว่า “เมืองตรันนินห์” เป็นที่มาของชื่อที่ราบสูงใจกลางแขวง ต่อมตกอยู่ในอำนาจของไทยเพราะอยู่ในเขตปกครองของประเทศราชหลวงพระบางเมื่อชาตืตะวันตกแผ่อิทธิพลเข้ามาในอินโดจีน ไทยต้องเสียลาวให้แก่ฝรั่งเศส หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาติต่างๆ ในอินโดจีน ได้แก่ ญวณ ลาว กัมพูชา เรียกร้องเอกราชคืนจากเจ้าอาณานิคมได้สำเร็จ แต่การเมืองภายในแตกออกเป็นฝ่ายซ้าย (ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย จีน เวียดนามเหนือในขณะนั้น) และฝ่ายขวา (ได้รับการสนับสนุนจากซีไอเอของสหรัฐอมริกา) รบราแย่งชิงอำนาจกันจนกลายเป็นสงครามอินโดจีน สงครามที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ คร่าชีวิตผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก บ้านเมืองเสียหายยับเยิน แขวงเซียงขวางที่เคยมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์และสัตว์ป่าชุกชุม โดนระเบิดสารเคมีและการหักร้างถางพง จนเหลือแต่ทุ่งหญ้าและภูเขาหัวโล้นรวมทั้งพูเบี้ย ภูเขาที่สูงที่สุดในลาว (2,820 เมตร)
โพนสะหวัน/โพนสวรรค์ (Phonsavan)
เป็นเมืองสร้างใหม่แทนเมืองเซียงขวางเดิมที่ถูกระเบิดเสียหายและทางการลาวไม่ต้องการฟื้นฟู จึงได้ย้ายหน่วยงานราชการมาตั้งเมืองใหม่ที่เขตเมืองโนนสุขหรือเมืองแปก เปลี่ยนชื่อเป็นบ้านโพนสะหวันเมื่อ พ.ศ.2510 ในตัวเมืองมีถนนตัดเป็นตาราง บางส่วนราดยางแล้วบางส่วนยังเป็นลูกรังอาคารบ้านเรือนบนถนนสายหลักเป็นอาคารตึก 2 ชั้น ตกแต่งด้วยชิ้นส่วนจากระเบิดใจกลางเมืองมีตลาดตั้งอยู่สองฟากถนน ฝั่งหนึ่งเป็นตลาดสด อีกฝั่ง เรียกว่า ตลาดแห้ง ขายสินค้าหลากชนิด ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าจากจีนและเวียดนาม
สถานที่ท่องเที่ยว
- อนุสาวรีย์วีรชนลาวและอนุสาวรีย์วีรชนเวียดนาม : ตั้งอยู่คนละฝั่งของเชิงเขาทางตอนใต้ของตัวเมืองโพนสะหวันข้อความจารึกที่อนุสาวรีย์ลาวนั้นสั้นแต่จับใจว่า “ประเทดซาดจาลึกบุญคุณ”
ทุ่งไหหิน
สถานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเซียงขวาง รู้จักไปทั่วโลกในนามว่าเพลนออฟจาร์ส (Plain of Jars) เป็นที่ราบสูง ภูเขาและถ้ำที่ปกคลุมด้วยทุ่งหญ้าเขียวขจีและไม้พุ่มเตี้ย มีภาชนะหินรูปทรงคล้ายไหขนาดต่างๆ ตั้งกระจายอยู่ทั่วไป ใบเล็กสูงประมาณเอว ใบใหญ่ขนาดคน 2-3 คนลงไปนั่งรวมกันได้ ตามข้อสันนิษฐานของนักวิชาการว่า ไหเหล่านี้สร้างขึ้นประมาณ 3-4 พันปีมาแล้วเพื่อใช้ในพิธีศพ เพราะขุดพบเศษกระดูกที่เผาแล้วและเครื่องมือเครื่องใช้อื่นๆ ที่ใช้ในพิธีศพบรรจุอยู่ในไห พบเถ้าถ่านกระดูกมนุษย์ขวานหินขัด ลูกปัดแก้ว เครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับสำริด เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากเหล็กในบริเวณโดยรอบ แต่ตามตำนานชาวบ้านว่าเป็นไหเหล้าของขุนเจือง เมื่อตีเมืองเซียงขวางจากพวกแกว (ญวน) ได้ ก็จัดงานฉลองอยู่ที่ทุ่งนี้นานถึง 7 เดือน
ทุ่งไหหินให้เข้าชมได้ 3 จุด ห่างจากเมืองโพนสะหวัน 12,25 และ 35 กิโลเมตรตามลำดับ จุดที่เข้าชมได้สะดวกที่สุดคือ จุดที่ 1 มีทางเดินจากที่จอดรถไปจนถึงทุ่ง (บัตรราคา 2,000 กีบ ติดต่อเหมาะรถหรือใช้บริการนำเที่ยวได้จากโรงแรมในเมืองโพนสะหวัน)
หมายเหตุ :
1. ทุ่งไหหินเป็นสมรภูมิรบสำคัญในสงครามปลดปล่อยดินแดนเต็มไปด้วยหลุมเพลาะและกับระเบิด บางจุดยังไม่ได้รับการสำรวจ จึงไม่ควรเดินเที่ยวออกนอกบริเวณที่ทางการกำหนดไว้
2. ถนนในเซียงขวางส่วนใหญ่เป็นลูกรัง เต็มไปด้วยหลุมบ่อ พาหนะเดินทางที่ใช้ได้คือรถสองแถว ปิกอัพและขับเคลื่อนสี่ล้อ สามารถติดต่อเช่าเหมาคันพร้อมคนขับได้จากสนามบิน โรงแรมและสถานีรถโดยสารหรือจะเลือกใช้บริการนำเที่ยวจากโรงแรมในโพนสะหวันที่มีชื่อเสียงคือโรงแรมมาลี
อาหารการกิน
ร้านสง่า บริการอาหารไทย จีน ลาวและตะวันตก เป็นร้านอาหารขึ้นหน้าขึ้นตาของเมือง ตั้งอยู่ใกล้ตลาดและที่ทำการไปรษณีย์ แต่ถ้าชอบเฝอ (ก๋วยเตี๋ยว) ที่มีชื่อคือร้านนางโพนแก้ว
หมายเหตุ : ภายในเซียงขวางมีกระแสไฟฟ้าใช้เฉพาะในเวลา 18.00 – 23.00 น.
แหล่งน่าเยือนชานเมือง
หมู่บ้านเผ่าม้ง อยู่ระหว่างเส้นทางโพนสะหวัน-หนองแฮด เมืองชายแดนติด ประเทศเวียดนาม (ทางหลวงหมายเลข 7) ระยะทาง 120 กิโลเมตร เป็นสถานที่ที่น่าแวะชม เพราะมีการนำซากระเบิดของสหรัฐอเมริกามาดัดแปลงเป็นผนัง เสา รั้ว กระถางต้นไม้ ไปจนถึงรางใส่อาหารสัตว์ ถ้าไปวันอาทิตย์เช้าจะได้ชมตลาดนัดด้วย
หมู่บ้านไทดำ อยู่ถัดจากหมู่บ้านม้งมีชื่อเรื่องต้มเหล้าจากข้าวเหนียวได้รสชาติกลมกล่อม
เมืองคำ ห่างจากโพนสะหวันประมาณ 51 กิโลเมตร มีบ่อน้ำแร่ร้อนธรรมชาติ ถึง 2 บ่อ บ่อแรกเรียกว่า บ่อใหญ่ บริเวณโดยมีบริการห้องพักและสระให้แช่น้ำ อีกบ่อเรียก บ่อน้อย อยู่ไม่ไกลกันลักษณะเป็นธารน้ำไหล ซีกหนึ่งเป็นน้ำร้อนอีกซีกเป็นน้ำเย็น จะเลือกแช่น้ำอุณหภูมิใดก็ขยับตัวเอา
ถ้ำพิ่ว/ปิว ห่างจากเมืองคำ 7 กิโลเมตร ปากถ้ำอยู่เหนือพื้นดินประมาณ 25 เมตร ภายในเป็นโถงกว้างสูง 8 เมตร ลึกไม่ต่ำกว่า 30 เมตร วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 ถูกสหรัฐอเมริกายิงจรวดเข้าใส่ ทำให้ชาวบ้านทั้งชาย หญิง เด็กและคนชรา ประมาณ 400 คน ที่เข้าไปอาศัยหลบภัยภายในถ้ำเสียชีวิตทั้งหมด
เมืองเซียงขวางเก่า (เมืองคูน) เป็นเมืองค่อนข้างใหญ่ มีถนนหลายสาย รวมทั้งตลาด โรงพยาบาล โรงภาพยนตร์ โรงเรียน ไปรษณีย์ ฯลฯ เป็นเมืองแห่งพุทธศาสนามีวัดเก่าแก่มากมาย เช่น วัดเพีย สร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช, ทาดจอมสีหรือทาดพวน เป็นเจดีย์ตั้งอยู่บนเขาเหนือตัวเมือง ตามตำนานว่าเป็นเจดีย์ที่บรรจุฝุ่นพระบรมอัฐิของพระพุทธเจ้า, วัดสีพม มีพระประธานองค์ใหญ่ที่ชาวลาวเรียกว่า องค์ตื้อ ชาวบ้านถือว่าเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง
เมืองสู้ย/สุ่ย/สุย (Muang Sui) ตั้งอยู่บนเส้นทางระหว่างพูคูน-โพนสะหวัน สมัยสงครามเมืองนี้ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ เพราะมีที่ราบพอให้เครื่องบินขนถ่ายยุทโธปกรณ์และกำลังพลลงจอดได้
สถานที่ท่องเที่ยว
ถ้ำพระ เขตพระหนองตั่งห่างจากโพนสะหวัน 42 กิโลเมตร เป็นถ้ำขนาดใหญ่ค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2537 ภายในมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 เมตร สูง 5 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างในราว พ.ศ. 1320 มีพระทองคำและพระไม้องค์เล็กๆ อีกมากมาย ผนังด้านในมีภาพเขียนสีเกี่ยวกับพุทธศาสนา ในภูเขาลูกเดียวกันยังมีถ้ำอีก 4 ถ้ำ กองทัพปลดปล่อยประชาชนลาวใช้เป็นที่พักและโรงพยาบาล ที่น่าแปลกคือถ้ำโรงพยาบาลกับถ้ำพระนั้นห่างกันแค่ผนังกั้นถ้ำ แต่ไม่มีใครพบถ้ำพระจนกระทั่งสงครามยุติ
ไม่ไกลจากภูเขาถ้ำพระ มีถ้ำเก็บโลงศพไม้ เพิ่งค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ลักษณะเหมือนกับโลงศพที่ถ้ำผีแมนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนของไทย
การเดินทาง
ทางอากาศ สายการบินลาวมีเที่ยวบินไป-กลับเวียงจันทน์-โพนสะหวัน วันละ 2 เที่ยวและเที่ยวบินไป-กลับหลวงพระบาง-โพนสะหวัน สัปดาห์ละ 4 เที่ยว สอบถามที่สำนักงาน