การเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียน
ประเทศลาวนั้นมีภูมิหลังที่คล้ายกับเวียดนามตรงที่มีรูปแบบทางการเมืองในยุคสงครามเย็นที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับกลุ่มอาเซียน ในสมัยยุคสงครามเย็น ลาวได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ และภายหลังจากการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์และการสิ้นสุดของสงครามเย็น ส่งผลให้ในปี พ.ศ.2529 ลาวจึงต้องเริ่มทบทวนและปรับเปลี่ยนนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจและนโยบายต่างประเทศใหม่ภายใต้นโยบาย “จินตนาการใหม่” ซึ่งส่งผลกระทบในทางบวกต่อการพัฒนาประเทศและมาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ลาวยังได้ปรับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน ไทย พม่า และสมาชิกในอาเซียน รวมถึงสหรัฐอเมริกา และกับประเทศยุโรปตะวันตกอื่นๆ เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและขยายการลงทุนจากต่างประเทศ มีผลให้กลุ่มสมาชิกอาเซียนเปิดรับลาวในการร่วมลงนามสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือของประเทศในเอเชียอาคเนย์ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia) ในปี พ.ศ.2535 ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 4 ณ ประเทศสิงคโปร์ ลาวจึงได้รับสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ของอาเซียนก่อนที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างสมบูรณ์ โดยเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนพร้อมกับประเทศพม่า นับตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2540 วัตถุประสงค์ของลาวในการเป็นสมาชิกอาเซียน คือ ความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ได้วางไว้
ความต้องการทางด้านการเมืองและความมั่นคง นับตั้งแต่ลาวได้รับสถานการณ์เป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ในการประชุมอาเซียนในปี พ.ศ.2535 สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างลาวกับประเทศในภูมิภาคทั้งจีน ไทย และเวียดนาม ได้ปรับเปลี่ยนจนมีลักษณะความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเพิ่มมากขึ้น เช่น จีนเข้ามามีบทบาทในเศรษฐกิจ สินค้าอุปโภค ครุภัณฑ์ ยุทธภัณฑ์และอาวุธจากจีนเริ่มเข้าแทนที่สินค้าประเภทเดียวกันจากรัสเซียในกองทัพลาว ขณะที่ความสัมพันธ์กับไทยได้เริ่มพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 เป็นต้นมา โดยไทยได้ให้ความช่วยเหลือแนะนำในด้านการเงิน การคลัง อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ระบบสาธารณูปโภคและความช่วยเหลือด้านอื่นๆ อีกทั้งประเทศเวียดนามที่ยังคงรักษาความสัมพันธ์พิเศษและความร่วมมือรอบด้าน
สิ่งเหล่านี้ ได้ทำให้ลาวต้องการหลีกเลี่ยงอิทธิพลของประเทศเพื่อนบ้านที่มีอิทธิพลเพิ่มขึ้นต่อลาว โดยเฉพาะจีน ไทย และเวียดนาม และเพื่อเป็นการรักษาความสมดุลของความสัมพันธ์กับทุกประเทศ ดังนั้น การเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนจึงเป็นหนทางที่ดีกว่าการที่ลาวจะสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะทวิภาคี ซึ่งอาจทำให้ลาวสูญเสียความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
ความต้องการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สืบเนื่องจากในปี พ.ศ.2539 ลาวมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงร้อยละ 6.5 ซึ่งต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย (ร้อยละ 8.4) และเวียดนาม (8.7) อีกทั้งยังมีโครงสร้างพื้นฐานไม่ได้รับการพัฒนา การคมนาคมไม่สะดวก และต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติทั้งความแห้งแล้งในภาคเหนือ และน้ำท่วมในภาคกลางและภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าว นอกจากนี้รัฐบาลยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนงบประมาณสำหรับการพัฒนาปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เทคโนโลยี และเงินทุนสำหรับพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจพื้นฐานต่างๆ ลาวจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศให้เข้ากับกระแสโลกาภิวัตน์และภูมิภาคนิยม โดยให้ความสนใจในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มอาเซียน และมีความหวังว่าชาติสมาชิกอาเซียนจะให้ความช่วยเหลือหรือเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อลาวเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน โครงการลงทุนต่างๆ ในอาเซียน ลาวจะได้รับผลประโยชน์ร่วมด้วย
ความต้องการพัฒนาทางด้านสังคม อเมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาประเทศสมาชิกในอาเซียนแล้ว ประเทศลาวยังคงมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ต่ำกว่ามาตรฐานทั้งในด้านการศึกษา และสาธารณสุข โดยประชากรลาวกว่าครึ่งหนึ่งไม่รู้หนังสือ เด็กทารกเสียชีวิตตั้งแต่แรกเกิด 1 ใน 10 คน ครึ่งหนึ่งของเด็กต้องประสบกับภาวะทุโภชนาการและมีการระบาดของเชื้อมาเลเรีย อีกทั้งประสบปัญหาการขาดแคลนยาและเครื่องมือทางการแพทย์ สิ่งเหล่านี้ ได้ทำให้รัฐบาลลาวขณะนั้นมีความหวังที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและความช่วยเหลือต่างๆ เพื่อมาพัฒนาประเทศ ซึ่งพัฒนาด้านสาธารณสุขและการศึกษาจะเป็นผลที่เกิดขึ้นตามมา
บทบาทของลาวในอาเซียน
ในระยะของการพัฒนาประเทศก่อนเข้าสู่การเป็นสมาชิกอาเซียนนั้น ประเทศลาวได้มีนโยบายที่แสดงให้เห็นถึงการเตรียมความพร้อมเข้าสู่อาเซียนอย่างสำคัญ กล่าวคือ ประเทศลาวมีการปรับตัวนโยบายและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในเชิงรุกให้สอดรับกับอาเซียน โดยในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 4 (2539-2543) ได้กำหนดให้ลาวต้องสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศตะวันตกมากขึ้น และอนุญาตให้เอกชนและนักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนได้เสรีในธุรกิจ ตลอดจนการส่งเสริมการพัฒนาด้านคมนาคมและการสื่อสาร โทรคมนาคม ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาการค้าและอุตสาหกรรมของชาติ อีกทั้งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานราชการและกฎหมายให้สอดคล้องกับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมีระเบียบแบบแผนมากขึ้น และสร้างความมั่นใจให้กับบริษัทต่างชาติในการเข้ามาลงทุนในลาว การเตรียมความพร้อมของบุคลากรรวมทั้งให้ความร่วมมือในการเตรียมพร้อมเพื่อการปฏิบัติตามพันธะข้อตกลงต่างๆ ของอาเซียน และการกำหนดภารกิจที่สำคัญหลังจากเข้าเป็นสมาชิกที่จะต้องเร่งดำเนินการทางการทูต โดยเปิดสถานทูตลาวอย่างเป็นทางการในประเทศสมาชิกอาเซียนให้ครบทุกประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อพิจารณาในด้านบทบาทของประเทศลาวในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและโลก จะพบว่า ประเทศลาวมีความโดดเด่นในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะน้ำและแร่ชนิดต่างๆ จึงพบว่าการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานน้ำ และเหมืองแร่ อีกทั้งประเทศลาวยังมีการเมืองที่มีเสถียรภาพ และมีค่าจ้างแรงงานค่อนข้างต่ำ ขณะเดียวกันก็พบอุปสรรคในการพัฒนา กล่าวคือ ประเทศลาวยังคงประสบปัญหาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ไม่พัฒนา การคมนาคมไม่สะดวก การให้บริการด้านสาธารณสุขยังไม่ทั่วถึงประชากรซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ตลอดจนประเทศลาวมีข้อจำกัดทางด้านภูมิศาสตร์ที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงและภูเขา และไม่มีทางออกสู่ทะเลเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศลาวอย่างสำคัญ
ประเทศลาวได้เล็งเห็นความสำคัญของความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน เพื่อช่วยกันประสานศักยภาพแต่ละประเทศสมาชิก ก่อให้เกิดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของภูมิภาคโดยรวม ดังนั้น ลาวจึงสนับสนุนให้อาเซียนดำเนินการเพื่อเร่งรัดการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ให้แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2558 โดยในปี พ.ศ.2554 รัฐบาลลาวได้วางแนวทางในการบริหารเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ก้าวสู่ความทันสมัย ด้วยประกาศนโยบายนำประเทศก้าวสู่ประเทศอุตสาหกรรมและความทันสมัย เพื่อให้ลาวสามารถบรรลุเป้าหมายการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ให้ได้โดยเร็ว โดยมีการปรับปรุงกฎหมายและแผนพัฒนาเศรษฐกิจลาวในปี พ.ศ.2554-2558 เพื่อเตรียมรับกับการเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งหากศึกษาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและกฎหมายการลงทุนพบว่า ประเทศลาวให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และรับความช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาค
ด้านบทบาทการเป็นประธานอาเซียน การเป็นสมาชิกอาเซียนนับเป็นภาระที่หนักและยิ่งใหญ่สำหรับประเทศลาว นับตั้งแต่เริ่มเปิดประเทศและมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ ซึ่งลาวไม่เคยเข้าร่วมองค์กรระหว่างประเทศมาก่อน การเข้าร่วมประชุมอาเซียนในปัญหานานาชาติจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับลาว หลังการเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียน ประเทศลาวในฐานะสมาชิกใหม่ ได้รับบทบาทสำคัญในเวทีอาเซียนโดยการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 10 ณ กรุงเวียงจันทน์ ในวันที่ 29-30 พฤศจิกายน พ.ศ.2547 นับเป็นครั้งแรกของประเทศลาวที่ได้ทำหน้าที่ในการจัดการประชุมระดับนานาชาติ โดยประเทศลาวได้จัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงถนนและการตกแต่งประดับประดาถนนสายหลักๆ อย่างสวยงาม เพื่อสร้างความประทับใจแก่ผู้เข้าร่วมประชุม แสดงถึงความเป็นหน้าตาของประเทศลาวในฐานะเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดอาเซียน